ประวัติความเป็นมา


สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสงขลา จำกัด

อาคาร-สอ.สธ.สงขลา จำกัด

      ประวัติ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสงขลา จำกัด ในปี พ.ศ.2522 นายสมนึก อ่อนแก้ว ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายสมณึก วัชระอาภากร ได้ย้ายมาปฏิบัติงาน ณ  โรงพยาบาลสงขลา  ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6และได้พบว่า ข้าราชการและลูกจ้างประจำใน รพ.สงขลา ในขณะนั้น  เป็นหนี้เงินกู้ยืมกันเป็นจำนวนมาก และเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารทั่วไปได้ยาก จึงได้ริเริ่มจัดตั้ง กลุ่มออมทรัพย์ขึ้น เพื่อเป็นการออมเงิน และเป็นเงินหมุนเวียนกู้ยืมโดยใช้วิธีการและหลักการของสหกรณ์ออมทรัพย์  เรียกกันเป็นการภายในว่า

“สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลสงขลา”

      โดยใช้บุคคลากรของโรงพยาบาลสงขลา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงิน ให้บริการในช่วงบ่ายของทุกวัน  ณ อาคารอำนวยการชั้น 3  ตึกประธานราษฎร์นิกร ของโรงพยาบาลสงขลา  ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองสงขลาในขณะนั้นต่อมา  เมื่อประสบความสำเร็จและสามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ จึงได้ขอจัดตั้งสหกรณ์และได้รับจดทะเบียนเป็น

“สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสงขลา จำกัด”

     เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2525  ตามคำแนะนำของนายแพทย์ประสิทธิ์ วณิชชานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาในขณะนั้น  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับบุคคลากรที่รับราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานในจังหวัดสงขลาทั้งหมด  ได้มีโอกาสสมัครเป็นสมาชิกได้ทุกคนต่อมาได้ย้ายสำนักงาน มาตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 2  อาคารสิรินธร ปัจจุบันเป็นอาคารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา  ได้จัดจ้างผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ครบทุกตำแหน่งงาน  ในปี พ.ศ.2549 ได้ย้ายสำนักงานมายังอาคารเลขที่ 34-35 ถนนสามัคคีสุข 1 ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นสัญญาเช่าช่วงอาคารบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย  

    ปัจจุบัน สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสงขลา จำกัด ได้ย้ายที่ทำการ มาตั้งอยู่ ณ อาคารเลขที่ 229 หมู่ที่ 6 ถนนลพบุรีราเมศวร์ ต.น้ำน้อย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นอาคาร 3 ชั้นซึ่งออกแบบเฉพาะ พร้อมบริเวณใช้สอย บนที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่  ซึ่งสหกรณ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ  และมีสำนักงานสาขาอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลา  ตำบลพะวง อีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้  ยังมีการให้บริการ ณ หน่วยงานของสมาชิก โดยรถตู้ให้บริการเคลื่อนที่ ด้วยระบบออนไลน์ครบทุกบริการ  ตามวันและเวลาที่สหกรณ์กำหนดและแจ้งล่วงหน้าสหกรณ์ให้บริการสมาชิกทางด้าน การรับฝากเงิน การให้เงินกู้แก่สมาชิก  และจัดให้มีสวัสดิการสำหรับสมาชิก  นอกจากนี้ยังเอื้อเฟื้อแก่ชุมชนและสังคมภายนอก ภายใต้พระราชบัญญัติสหกรณ์ และหลักแนวทางของการสหกรณ์สากล สหกรณ์ บริหารโดยปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักธรรมาภิบาล การให้ความสำคัญกับระบบควบคุมภายในและระบบบริหารจัดการความเสี่ยง  เพื่อให้สหกรณ์มีความมั่นคง  สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี  อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมอย่างยั่งยืน..